วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

คำอุทาน

คำอุทาน

 
   คำอุทาน  คือ  คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูด  โดยมากคำอุทานจะไม่มีความหมายตรงตามถ้อยคำ  แต่มุ่งเน้นอารมณ์และความรู้สึกเป็นสำคัญ
     
   

คำอุทานมี  ๒  ชนิด  คือ

                                ๑.  คำอุทานบอกอาการ                                      ๒.  คำอุทานเสริมบท
  ๑.  คำอุทานบอกอาการ            คือ    คำที่เปล่งเสียงเพื่อบอกอาการ และความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งใช้เฉพาะในการพูดจา
                          เช่น               -  โอ๊ย !  เธอเหยียบเท้าฉันทำไม     (เจ็บปวด)
                                                -  พุทโธ่ !  เขาไม่น่าเสียชีวิตเลย     (สงสาร)
                                                -  เอ๊ะ !  ใครขโมยปากกาฉันไปอีกล่ะ           (สงสัย  แปลกใจ)
                                                -  คุณพระช่วย !  ลูกไปทำอะไรมา    (ตกใจ)
                                                -  ว้าว !  ชุดนี้ทำให้เธอสวยมาก ๆ เลย          (ตื่นเต้น)
                                                -  อ้าว !  มาหยิบของฉันไปดื้อ ๆ ได้อย่างไร     (ไม่พอใจ)
  ๒.  คำอุทานเสริมบท     คือ  คำอุทานที่ผู้พูดกล่าวคำเสริมเพิ่มเติมโดยไม่ตั้งใจให้มีความหมาย 
                                                   แต่เน้นให้เกิดความคล้องจอง  มักใช้ในคำประพันธ์เพื่อให้ข้อความสละสลวย
                      เช่น                   -  ลูกต้องหมั่นอ่านหนังสือหนังหาให้มากนะ
                                                -  หนูเดินระวัง ๆ หน่อยนะ  เดี๋ยวแข้งขาหักจะลำบาก
                                                -  กรวิทย์ชอบแสดงตัวเป็นเจ้าข้าวจ้าวของ น่าเบื่อจริง ๆ
                                                -  วัดวาอารามเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราควรเคารพสถานที่
                                                -  เวลาเดินข้ามถนนหนทางก็เหลียวซ้ายแลขวาก่อน
                                                -  อ้าดูอโศกนี้    สีไสววิไลตา

          ข้อควรจำ
          ๑.  การใช้คำอุทานบอกอาการมักเขียนไว้หน้าประโยค  และจะต้องใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
     หลังคำอุทานทุกคำ  ยกเว้นในคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองไม่ต้องใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์
          ๒.  คำอุทานเสริมบทจะวางอยู่ในตำแหน่งใดในประโยคก็ได้ และหลังคำนั้นไม่ต้องใส่
     เครื่องหมายอัศเจรีย์หลังคำ
  
                         

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง

อิเหนา  ตอน  ศึกกะหมังกุหนิง
   


 อิเหนา  เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นบทละครที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครรำ  เพราะเป็นหนังสือซึ่งแต่งดีพร้อมทั้งเนื้อหา  ทั้งความไพเราะ  ทั้งกระบวนที่จะเล่นละครประกอบกัน  และยังเป็นหนังสือดีในทางที่จะศึกษาประเพณีไทยสมัยโบราณ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ตรงตามตำราทุกอย่าง  แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีเค้าเรื่องมาจากนิทานพื้นเมืองชวา  แต่ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมของบ้านเมือง  อัธยาศัยและรสนิยมของคนไทย
ผู้แต่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ลักษณะคำประพันธ์
กลอนบทละคร
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้ในการแสดงละครใน
ความเป็นมา
อิเหนา  เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  มีที่มาจาก
นิทานปันหยี  ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดีที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง
คือ  เรื่องอิหนา  ปันหยี  กรัต ปาตี วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องเป็นพงศาวดาร
แต่งขึ้นเพื่อการเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่งซึ่งทรงเป็นนักรบ
นักปกครอง  และทรงสร้างความเจริญให้แก่ชวาเป็นอย่างมาก
ชาวชวาถือว่าอิหนาเป็นวีรบุรุษ  เป็นผู้มีฤทธิ์  เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา
จนกลายเป็นนิทานจึงเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์
                                                  ว่าพลางทางชมคณานก                    โผนผกจับไม้อึงมี่
                                             เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                          เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
                                             นางนวลจับนางนวลนอน                         เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
                                             จากพรากจับจากจำนรรจา                       เหมือนจากนางสการะวาตี
                                             แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                           เหมือนร้างท้องมาหยารัศมี
                                             นกแก้วจับแก้วพาที                               เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
                                             ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร                  เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
                                             เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา                          เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง
                                             คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว                        เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง
                                             ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง                        คะนึงนางพลางรีบโยธี
เรื่องย่อ     ดินแดนชวาโบราณมีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า  วงศ์สัญแดหวาหรือวงศ์เทวา  เพราะว่าสืบเชื้อสายมาจากเทวดา  คือ  องค์ปะตาระกาหลา  กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์  องค์พี่ครองเมืองกุเรปัน  องค์ที่สองครองเมืองดาหา  องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง  และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี  กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์  ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูงจึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง  นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ 5 องค์  ตามลำดับตำแหน่ง  คือ  ประไหมสุหรี  มะเดหวี  มะโต  ลิกู  เหมาหราหงี  แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า  กล่าวคือ  เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์  องค์โตชื่อนิหลาอระตา  ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน  องค์ที่สองชื่อ  ดาหราวาตี  ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองดาหา  ส่วนองค์สุดท้องชื่อ  จินดาส่าหรี  ได้อภิเษกกับโอรสท้าวมังกัน  และได้ครองเมืองหมันหยา
          ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู  ชื่อว่า  กะหรัดตะปาตี  ต่อมามีโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก  ชื่อ  อิเหนา  หรือ  ระเด่นมนตรี  และมีราชธิดาชื่อวิยะดา  ส่วนท้าวดาหามีราชธิดากับประไหมสุหรีชื่อ  บุษบา  และมีโอรสชื่อ  สียะตรา  บุษบามีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา  ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา  และสียะตราก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
          ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีราชธิดาชื่อระเด่นจินตะหรา  อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา  ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรสชื่อระเด่นสุหรานากง  ราชธิดาชื่อระเด่นจินดาส่าหรี  ท้าวกาหลังมีราชธิดาชื่อ  ระเด่นสกาหนึ่งรัด  ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันของสุหรานากง
          เมื่อพระอัยยิกาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์  ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกับกะหรัดตะปาตี  อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก  จนพิธีถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็ยังไม่ยอมกลับกุเรปัน  ท้าวกุเรปันจึงต้องอ้างว่าประไหมสุหรีจะมีพระประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลังใจให้พระราชมารดา  อิเหนาจำใจต้องกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติ  พระราชธิดาหน้าตาน่ารัก  นามว่า  ระเด่นวิยะดา
          อย่างไรก็ตามอิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก  โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่า  แล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ  มิสารปันหยี  ระหว่างทางได้รบกับระตูบุศิหนา  น้องชายสุดท้องของระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน  ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ  นางดรสาซึ่งเพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระสวามี  ส่วนระตูจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้และถวายพระธิดาและพระโอรสให้อิเหนา  คือ  นางสะการะวาตี  นางมาหยารัศมี  และสังคามาระตา  เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา  แล้วได้สองนางคือ  นางสะการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา  และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
          ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง  พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา  แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ  สั่งความตัดรอดนางบุษบา  ท้าวกุเรปันและท้าดาหาทราบเรื่องก็ขัดเคืองพระทัย  ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก้จะยกให้
          ฝ่ายจรกา  ระตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง  และเป็นอนุชาของท้าวล่าส่ำ (ท้าล่าส่ำผู้นี้มีธิดา  คือ  ระเด่นกุสุมา  เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา)  จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ  แต่อยากได้ชายารูปงาม  จึงให้ช่วงวาดไปแอบวาดภาพราชธิดาของเมืองสิงหัดส่าหร  คือ  นางจินดาส่าหรี  ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดแอบวาดภาพนางบุษบาอีก  ช่างวาดแอบวาดภาพได้ 2 ภาพ  คือ  ตอนนางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทบและภาพที่แต่งองค์เต็มที่  ขณะเดินทางกลับองค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป  จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหลถึงกับสลบลงทันที
          เมื่อจรกาได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน  จึงรีบให้ระตูล่าส่ำ  พี่ชายมาสู่ขอบุษบา  ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่ว  ต่ำศักดิ์  แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอก็จะยกให้  จึงจำใจยากนางบุษบาให้จรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน
          กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง  องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิงมีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ  องค์รองครองเมืองปาหยัง  องค์สุดท้องครองเมืองปะหมันสลัด
          อยู่มหาวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิง  เสด็จประพาสป่าแล้วพบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไปก็คลั่งไคล้หลงถึงกับสลบเช่นกัน  ท้าวกะหมันกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมาก  จึงให้คนไปสืบว่านางในภาพนั้นเป็นใครแล้วให้แต่งทูตไปขอ  แต่ท้าวดาหามอบนางบุษบาให้จรกาแล้วจึงปฏิเสธไป  เมื่อไม่สมหวังท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมาชิงนางบุษบา  โดยแจ้งระตูปาหยังและระตูปะหมันน้องชายและหัวเมืองทั้งหลายยกทัพมาช่วยรบด้วย
          ท้าวกุเรปันจึงเรียกตัวอิเหนาจากเมืองหมันหยามาช่วยท้าวดาหาทำศึกกับท้าวกะหมังกุหนิง  อิเหนาเป็นฝ่ายมีชัยในศึกครั้งนี้  อิเหนาสังหารกะหมังกุหนิง  สังคามาระตาสังหารวิหยาสะกำ  ระตูปาหยังกับปะหมันยอมแพ้ขอเป็นเมืองขึ้น  เมื่อเสด็จศึกอิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา  เมื่อได้พบกับนางบุษบาก็หลงรักทันที  จึงหาทางขัดขวางพิธีอภิเษกโดยการลักพาตัวบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ  องปะตาระกาหลากริ้วที่อิเหนาทำไม่ถูกต้อง  จึงบันดาลให้เกิดลมหอบนางบุษบาไปจากอิเหนา  อิเหนาและนางบุษบาต่างต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปีจึงได้กลับมาพบกัน
วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
    คุณค่าด้านเนื้อหา
    แนวคิด  เรื่องอิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก  รักและตามใจทุกอย่าง  แม้นกระทั่วตัวตายก็ยอม
     ฉาก ตอนศึกกะหมังกุหนิงจะปรากฎฉากรบที่ชัดเจน  มีการตั้งค่าย  การใช้อาวุธ  และการต่อสู้ของตัวละครสำคัญ
     ปมขัดแย้ง  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีหลายข้อแย้ง  แต่ละปมปัญหาเป็นเรื่องที่อาจเกิดได้ในชีวิตจริง  และสมเหตุสมผล  เช่น
          ปมแรก  คือ  ท้าวกุเรปันให้อิเหนาอภิเษกกับบุษบา  แต่อิเหนาหลงรักจินตะหราไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา
          ปมที่สอง  คือ  ท้าวดาหาขัดเคืองอิเหนา  ยกบุษบาให้จรกา  ทำให้ท้าวกุเรปันและพระญาติทั้งหลายไม่พอพระทัย
          ปมที่สาม  ท้าวกะหมังกุหนิงมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำ  แต่ท้าวดาหายกให้จรกาไปแล้ว  จึงเกิดศึกชิงนางขึ้น
          ปมที่สี่  อิเหนาจำเป็นต้องไปช่วยดาหา  จินตะหราคิดว่าอิเหนาจะไปอภิเษกกับบุษบา  จินตะหราขัดแย้งในใจตนเอง  หวั่นใจกับสถานภาพของตนเอง
          ปมที่สามเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด  เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงคิดจะทำสงครามกับกรุงดาหาเพื่อชิงนางบุษบามาให้วิหยาสะกำโอรสองพระองค์  ท้าวกะหมังกุหนิงหารือกับระตูปาหยังและท้าวปะหมันผู้เป็นอนุชา  ทั้งสองทัดทานว่าดาหาเป็นเมืองใหญ่ของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาผู้มีฝีมือเลื่องลือในการสงคราม  ส่วนกะหมังกุหนิงเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ คงจะสู้ศึกไม่ได้  แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ฟังคำทัดทานเพราะรักลูกมากจนไม่อาจทนเห็นลูกทุกข์ทรมารได้  แม้จะรู้ว่าอาจสู้ศึกไม่ได้  แต่ก็ตัดสินใจทำสงครามด้วยเหตุผลที่บอกแก่อนุชาทั้งสองว่า
                         แม้วิหยาสะกำมอดม้วย               พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
                         ไหนไหนจะตายวายชีวา              ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
                         ผิดก็ทำสงครามดูตามที               เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
                         พี่ดังพฤกษาพนาวัน                    จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา
     ตัวละคร  อิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่มาก  ตัวละครมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่โดดเด่นและแตกต่างกัน  เช่น
          ท้าวกุเรปัน
          ถือยศศักดิ์ไม่ไว้หน้าใคร  ไม่เกรงใจใคร  เช่น  ในราชสาส์นถึงระตูหมันหยา  กล่าวตำหนิระตูหมันหยาอย่างไม่ไว้หน้าว่า  เป็นใจให้จินตะหราแย่งคู่หมั้นบุษบา  สอนลูกให้ยั่วยวนอิเหนา  เป็นต้นเหตุให้บุษบาร้างคู่ตุนาหงัน
                              ในลักษณ์อักษรสารา               ว่าระตูหมันหยาเป็นผู้ใหญ่
                         มีราชธิดายาใจ                           แกล้งให้แต่งตัวไว้ยั่วชาย
                         จนลูกเราร้างคู่ตุนาหงัน                  ไปหลงรักผูกพันมั่นหมาย
                         จะให้ชิงผัวเขาเอาเด็ดดาย              ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชาชน
                         บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา                  กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน
                         เสียงงานการวิวาห์จราจล                ต่างคนต่างข้องหมองใจ
                         การสงครามครั้งนี้มีไปช่วย               ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน
                         จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป              ก็ตามแต่น้ำใจจะเห็นดี
               ในพระราชสาส์นของท้าวกุเรปันถึงอิเหนาได้ยกความผิดให้จินตะหรา  จึงมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ  แต่ไม่มีเมตตา  ถือยศศักดิ์  และที่ต้องช่วยดาหานั้น  เพราะถ้าดาหาแพ้หมายถึงกษัตริย์วงศ์เทวาพ่ายแพ้ด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอายอย่างยิ่ง
                              ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว          แต่เขาก็รู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่
                         อันองค์ท้าวดาหาธิบดี                     นั้นมิใช่อาหรือว่าไร
                         มาตรแม้นเสียเมืองดาหา                  จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่
               ท้าวดาหา               หยิ่งในศักดิ์สรี  ใจร้อน  เช่น  ตัดสินใจรับศึกกะหมังกุหนิงโดยไม่สนใจว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่  ดังคำประพันธ์
                              คิดพลางทางสั่งเสนาใน               เร่งให้เกณฑ์คนขึ้นหน้าที่
                         รักษามั่นไว้ในบุรี                            จะดูทีข้าศึกซึ่งยกมา
                         อนึ่งจะคอยท่าม้าใช้                         ที่ให้ไปแจ้งเหตุพระเชษฐา
                         กับสองศรีราชอนุชา                         ยังจะมาช่วยหรือประการใด
                         แม้จะเคืองขัดตัดรอน                        ทั้งสามพระนครหาช่วยไม่
                         แต่ผู้เดียวจะเคี่ยวสงครามไป               จะยากเย็นเป็นกระไรก็ตามที
               เป็นคนรักษาสัจจะ  รักษาเกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อได้ยกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว  เมื่อกะหมังกุหนิงมาสู่ขออีกจึงปฏิเสธ  ดังที่ว่า
                              อันอะหนะบุษบาบังอร                  ครั้งก่อนจรกาตุนาหงัน
                         ได้ปลดปลงลงใจให้มั่น                      นัดกันจะแต่งการวิวาห์
                         ซึ่งจะรับของสู่ระตูนี้                           เห็นผิดประเพณีหนักหนา
                         ฝูงคนทั้งแผ่นดินจะนินทา                    สิ่งของที่เอามาจงคืนไป
               อิเหนา
               รอบคอบ  มองการณ์ไกล  ตอนที่สังคามาระตารบกับวิหยาสะกำ  อิเหนาได้เตือน  สังคามาระตาว่าไม่ชำนาญกระบี่  อย่าลงจากหลังม้า  เพราะเพลงทวนนั้นชำนาญอยู่แล้วจะเอาชนะได้ง่ายกว่า
                              เมื่อนั้น                                     ระเด่นมนตรีใจหาญ
                         จึงตอบอนุชาชัยชาญ                         เจ้าจะต้านต่อฤทธิ์ก็ตามใจ
                         แต่อย่าลงจากพาชี                             เพลงกระบี่ยังหาชำนาญไม่
                         เพลงทวนสันทัดจัดเจนใจ                     เห็นจะมีชัยแก่ไพรี
               มีอารมณ์ละเอียดอ่อน  เมื่อจากสามนางมาเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางทั้งสาม  คำประพันธ์ความตอนนี้มีความไพเราะมาก
                              ว่าพลางทางชมคณานก                   โผนผกจับไม้อึงมี่
                         เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                         เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
                         นางนวลจับนางนวลนอน                        เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
                         จากพรากจับจากจำนรรจา                      เหมือนจากนางสการะวาตี
                

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง

การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง 



1. ความหมายของบทร้อยกรอง 

บทร้อยกรอง หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์โดยมีกำหนดข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความครึกครื้น และมีความไพเราะแตกต่างไปจากถ้อยคำธรรมดา ในการอ่านบทร้อยกรองนั้น เราเรียนกว่า “การอ่านทำนองเสนาะ”

2. ความหมายของ “การอ่านทำนองเสนาะ” 
การอ่านทำนองเสนาะคือ วิธีการอ่านออกเสียงอย่างไพเราะตามลีลาของบทร้อยกรองประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

( พจนานุกกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 528 )

บางคนให้ความหมายว่า การอ่านทำนองเสนาะ คือ การอ่านตามทำนอง ( ทำนอง = ระบบเสียงสูงต่ำ ซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) เพื่อให้เกิดความเสนาะ ( เสนาะ , น่าฟัง , เพราะ , วังเวงใจ )

3. วัตถุประสงค์ในการอ่านทำนองเสนาะ 
การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านให้คนอื่นฟัง ฉะนั้นทำนองเสนาะต้องอ่านออกเสียง เสียงทำให้เกิดความรู้สึก – ทำให้เห็นความงาม – เห็นความไพเราะ – เห็นภาพพจน์ ผู้ฟังสัมผัสด้วยเสียงจึงจะเข้าถึงรสและความงามของบทร้อยกรองที่เรียนกว่า อ่านแล้วฟังพริ้งเราะเสนาะโสต การอ่านทำนองเสนาะจึงมุ่งให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและเห็นความงามของบทร้อยกรอง

4. ที่มาของการอ่านทำนองเสนาะ 
เข้าใจว่า การอ่านทำนองเสนาะมีมานานแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เท่าที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835 หลักที่ หนึ่ง บรรทัดที่ 18 – 20 ดังความว่า “…ด้วยเสียงพาดเสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่นใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน…” จากข้อความดังกล่าว ฉันทิชย์ กระเสสินธุ์ กล่าวว่า เสียงเลื้อน เสียงขับ คือการ้องเป็นทำนองเสนาะ ส่วน ทองสืบ ศุภะมารค ชี้แจงว่า เลื้อนตรงกับภาษาไทยถิ่นว่า “เลิ่น” หมายถึง การอ่านหนังสือเอื้อนเสียงเป็นทำนอง ซึ่งคล้ายกับที่ ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า “เลื้อน” เป็นคำภาษาถิ่นแปลว่า อ่านทำนองเสนาะ โดยอ้างถึง บรรจบ พันธุเมธา กล่าวว่า คำนี้เป็นภาษาถิ่นของไทยในพม่า ถือไทยในรัฐฉานหรือไทยใหญ่นั่นเอง จากความคิดเห็นของผู้รู้ประกอบกับหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงดังกล่าว ทำให้เชื่อกันว่าการอ่านทำนองเสนาะของไทยมีมานานหลายร้อยปีแล้ว โดยเรียกเป็นภาษาไทยถิ่นว่า “เลื้อน”

ที่มาหรือต้นเค้าของการอ่านทำนองเสนาะพอจะสันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีบ่อเกิดจากการดเนินวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน ที่มีความเกี่ยวกันกับการร้องเพลงทำนองต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งนี้จากเหตุผลที่ว่า คนไทยมีนิสัยชอบพูดคำคล้องจองให้มีจังหวะด้วยลักษณะสัมผัสเสมอ ประกอบกับคำภาษาไทยที่มีวรรณยุกต์กำกับจึงทำให้คำมีระดับเสียงสูงต่ำเหมือนดนตรี เมื่อประดิษฐ์ทำนองง่าย ๆ ใส่เข้าไปก็ทำให้สามารถสร้างบทเพลงร้องขึ้นมาได้แล้ว ดังนั้นคนไทยจึงมีโอกาสได้ฟังและชื่นชมกับการร้องเพลงทำนองต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว

ศิลปะการอ่านทำนองเสนาะขึ้นอยู่กับคามสามารถของผู้อ่าน และความไพเราะของบทประพันธ์แต่ละประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้อ่านทำนองเสนาะจึงต้องศึกษาวิธีการอ่านให้ไพเราะและต้องหมั่นฝึกฝนการอ่านจนเกิดความชำนาญ

อนึ่งศิลปะการอ่านทำนองเสนาะอยู่ที่ตัวผู้อ่านต้องรู้จัก วิธีการอ่านทอดเสียง โดยผ่อนจังหวะให้ช้าลง การเอื้อนเสียง โดยการลากเสียงช้า ๆ เพื่อให้เข้าจังหวะและให้หางเสียงให้ไพเราะ การครั่นเสียง โดยทำเสียงสะดุดสะเทือนเพื่อความไพเราะเหมาะสมกับบทกวีบางตอน การหลบเสียง โดยการหักเสียงให้พลิกกลับจากเสียงสูงลงมาเป็นเสียงต่ำ หรือจากเสียงต่ำขึ้นไปเป็นเสียงสูง เนื่องจากผู้อ่านไม่สามารถที่จะดำเนินตามทำนองต่อไปได้ เป็นการหลบหนีจากเสียงที่เกินความสามารถ จึงต้องหักทำนองพลิกกลับเข้ามาดำเนินทำนองในเขตเสียงของตน และการกระแทกเสียงโดยการอ่านกระชากเสียงให้ดังผิดปกติในโอกาสที่แสดงความโกรธหรือความไม่พอใจหรือเมื่อต้องการเน้นเสียง

(มนตรี ตราโมท 2527 : 50 )

5. รสที่ใช้ในการอ่านทำนองเสนาะ 
1.1 รสถ้อย ( คำพูด ) แต่ละคำมีรสในคำของตัวเอง ผู้อ่านจะต้องอ่านให้เกิดรสถ้อย

ตัวอย่าง

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม ดังดูดดื่มบอระเพ็ดที่เข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์ ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

(พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ)

1.2 รสความ ( เรื่องราวที่อ่าน ) ข้อความที่อ่านมีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เช่น โศกเศร้า สนุกสนาน ตื่นเต้น โกรธ รัก เวลาอ่านต้องอ่านให้มีลีลาไปตามลักษณะของเนื้อเรื่องนั้น ๆ

ตัวอย่าง : บทโศกตอนที่นางวันทองไปส่งพลายงามให้ไปหาย่าทองประศรีที่สุพรรณบุรี

ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์ โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง

(เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม : สุนทรภู่ )

ตัวอย่าง : บทสนุกสนาน ในนิราศพระบาทขณะมีมวยปล้ำ

ละครหยุดอุตลุดด้วยมวลปล้ำ ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน
มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน ตั้งประจันจดจับขยับมือ
ตีเข้าปับรับโปกสองมือปิด ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ
กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ คนดูอ้อเออกันสนั่นอึง

(นิราศพระบาท : สุนทรภู่ )

1.3 รสทำนอง ( ระบบเสียงสูงต่ำซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) ในบทร้อยกรองไทยจะประกอบด้วยทำนองต่าง ๆ เช่น ทำนองโคลง ทำนองฉันท์ ทำนองกาพย์ ทำนองกลอน และทำนองร่าย เป็นต้น ผู้อ่านจะต้องอ่านให้ถูกต้องตามทำนองของร้อยกรองนั้น เช่น โคลงสี่สุภาพ

สัตว์ พวกหนึ่งนี้ชื่อ พหุบา ทาแฮ
มี เอนกสมญา ยอกย้อน
เท้า เกิดยิ่งจัตวา ควรนับ เขานอ
มาก จวบหมิ่นแสนซ้อน สุดพ้นประมาณฯ

( สัตวาภิธาน : พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยากูร )

1.4 รสคล้องจอง ในบทร้อยกรองต้องมีคำคล้องจอง ในคำคล้องจองนั้นต้องให้ออกเสียงต่อเนื่องกันโดยเน้นสัมผักนอกเป็นสำคัญ เช่น

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชรโพริญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

(นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่)

1.5 รสภาพ เสียงทำให้เกิดภาพ ในแต่ละคำจะแฝงไปด้วยภาพ ในการอ่านให้เห็นภาพต้องใช้เสียง สูง – ต่ำ ดัง - ค่อย แล้วแต่จะให้เกิดภาพอย่างไร เช่น

“มดเอ๋ยมดแดง เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน
“สุพรรณหงส์ทรงพูดห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์”
“อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา”

6. หลักการอ่านทำนองเสนาะ มีดังนี้ 
1. ก่อนอ่านทำนองเสนาะให้แบ่งคำแบ่งวรรคให้ถูกต้องตามหลักคำประพันธ์เสียก่อนโดยต้องระวังในเรื่องความหมายของคำด้วย เพราะคำบางคำอ่านแยกคำกันไม่ได้ เช่น

“สร้อยคอขนมยุระ ยูงงาม”
(ขน-มยุระ , ขนม-ยุระ)

“หวนห่วงม่วงหมอนทอง อีกอกร่องรสโอชา
(อีก-อก-ร่อง , อี-กอ-กร่อง)

“ดุเหว่าจับเต่าร้างร้อง เหมือนจากห้องมาหยารัศมี”
(จับ-เต่า-ร้าง , จับ-เต่า )

“แรงเหมือนมดอดเหมือนกา กล้าเหมือนหญิง”
(เหมือน-มด , เหมือน-มด-อด )

2. อ่านออกเสียงตามธรรมดาให้คล่องก่อน

3. อ่านให้ชัดเจน โดยเฉพาะออกเสียง ร ล และคำควบกล้ำให้ถูกต้อง เช่น

“เกิดเป็นชายชาตรีอย่าขี้ขลาด บรรยากาศปลอดโปร่งโล่งสมอง
หยิบน้ำปลาตราสับปะรดให้ทดลอง ไหนเล่าน้องครีมนวดหน้าทาให้ที
เนื้อนั้นมีโปรตีนกินเข้าไว้ คนเคราะห์ร้ายคลุ้มคลั่งเรื่องหนังผี
ใช้น้ำคลองกรองเสียก่อนจึงจะดี เห็นมาลีคลี่บานหน้าบ้านเอย”

4. อ่านให้เอื้อสัมผัส เรียกว่า คำแปรเสียง เพื่อให้เกิดเสีงสัมผัสที่ไพเราะ เช่น

พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
( อ่านว่า พระ-สะ-หมุด-สุด-ลึก-ล้น คน-นะ-นา )

ข้าขอเคารพอภิวาท ในพระบาทบพิตรอดิสร
( อ่านว่า ข้า-ขอ-เคา-รบ-อบ-พิ-วาด ใน-พระ-บาด-บอ-พิด-อะ-ดิด-สอน )

ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ
( อ่านว่า ขอ-สม-หวัง-ตั้ง-ประ-โหยด-โพด-ทิ-ยาน )

5. ระวัง 3 ต อย่าให้ตกหล่น อย่าต่อเติม และอย่าตู่ตัว

6. อ่านให้ถูกจังหวะ คำประพันธ์แต่ละประเภทมีจังหวะแตกต่างกัน ต้องอ่านให้ถูกวรรคตอนตามแบบแผนของคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น มุทิงคนาฉันท์ ( 2-2-3 )

“ป๊ะโทน / ป๊ะโทน / ป๊ะโท่นโท่น       บุรุษ / สิโอน / สะเอวไหว
อนงค์ / นำเคลื่อน / เขยื้อนไป       สะบัด / สไบ / วิไลตา

7. อ่านให้ถูกทำนองของคำประพันธ์นั้น ๆ ( รสทำนอง )

8. ผู้อ่านต้องใส่อารมณ์ตามรสความของบทประพันธ์นั้น ๆ รสรัก โศก ตื่นเต้น ขบขัน โกรธ แล้วใส่น้ำเสียงให้สอดคล้องกับรสหรืออารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น

9. อ่านให้เสียงดัง ( พอที่จะได้ยินกันทั่วถึง ) ไม่ใช่ตะโกน

10. ถ้าเป็นฉันท์ ต้องอ่านให้ถูกต้องตามบังคับของครุ - ลหุ ของฉันท์นั้น ๆ

ลหุ คือ คำที่ผสมด้วยสระเสียงสั้น และไม่มีตัวสะกด เช่น เตะ บุ และ เถอะ ผัวะ ยกเว้น ก็ บ่อ นอกจากนี้ถือเป็นคำครุ ( คะ-รุ ) ทั้งหมด
ลหุ ให้เครื่องหมาย ( ุ ) แทนในการเขียน
ครุ ใช้เครื่องหมาย ( ั ) แทนในการเขียน

ตัวอย่าง : วสันตดิลกฉันท์ 14 มีครุ - ลหุ ดังนี้


อ้าเพศก็เพศนุชอนงค์ อรองค์ก็บอบบาง
( อ่านว่า อ้า - เพด – ก้อ – เพด – นุ – ชะ – อะ – นง อะ – ระ – อง – ก้อ – บอบ – บาง )

ควรแต่ผดุงสิริสะอาง ศุภลักษณ์ประโลมใจ
( อ่านว่า ควน – แต่ – ผะ – ดุง – สิ – หริ – สะ – อาง สุ – พะ – ลัก – ประ – โลม – ใจ )

11. เวลาอ่านอย่าให้เสียงขาดเป็นช่วง ๆ ต้องให้เสียงติดต่อกันตลอด เช่น
“วันจันทร์ มีดารากร เป็นบริวาร เห็นสิ้นฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน ในก้านอรชร” เวลาจบให้ทอดเสียงช้า ๆ

7. ประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านทำนองเสนาะ 
1.ช่วยให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและเห็นความงามของบทร้อยกรองที่อ่าน
2.ช่วยให้ผู้ฟังได้รับความไพเราะและเกิดความซาบซึ้ง ( อาการรู้สึกจับใจอย่างลึกซึ้ง )
3.ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน
4.ช่วยให้จดจำบทร้อยกรองได้รวดเร็วและแม่นยำ
5.ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนอ่อนโยนและเยือกเย็น ( ประโยชน์โดยอ้อม )
6.ช่วยสืบทอดวัฒนธรรม ในการอ่านทำนองเสนาะไว้เป็นมรดกต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

คำราชาศัพท์ หมวดร่างกาย


คำราชาศัพท์ หมวดร่างกาย








ราชาศัพท์                                                ความหมาย
พระเจ้า                                                    หัว ศีรษะ ( พระมหากษัตริย์ )
พระเศียร                                                  หัว ศีรษะ
พระสิรัฐิ ( สิ - รัด - ถิ )  พระสีสกฏาหะ     กะโหลกศีรษะ
เส้นพระเจ้า                                              เส้นผมของพระมหากษัตริย์
พระเกศา พระเกศ  พระศก                       เส้นผม
ไรพระเกศ ไรพระเกศา  ไรพระศก           ไรผม     
ขมวดพระศก  ขมวดพระเกศา                  ขมวดผมที่เป็นก้นหอย
พระโมลี  พระเมาลี                                  จุก หรือ มวยผม
พระจุไร                                                   ไรจุก  ไรผม
พระจุฑามาศ                                            มวยผม  ท้ายทอย
พระเวณิ                                                   เปียผม  ช้องผม
พระนลาฏ                                                หน้าผาก
พระขนง  พระภมู                                      คิ้ว
พระอุนาโลม                                            ขนหว่างคิ้ว
พระเนตร  พระนัยนะ  พระจักษุ                 ดวงตา
พระเนตรดำ  ดวงพระเนตรดำ                   ตาดำ
ดวงเนตรขาว  ดวงพระเนตรขาว               ตาขาว
พระกนีนิกา  พระเนตรดารา                      แก้วตา
หนังพระเนตร  หลังพระเนตร                    หนังตา  หลังตา
พระโลมจักษะ  ขนพระเนตร                     ขนตา
ม่านพระเนตร                                            ม่านตา
ต่อมพระเนตร                                           ต่อมน้ำตา
พระอัสสุธารา พระอัสสุชล น้ำพระเนตร    น้ำตา   
พระนาสิก  พระนาสา                                จมูก
สันพระนาสิก  สันพระนาสา                       สันจมูก
ช่องพระนาสิก                                          ช่องจมูก
พระโลมนาสิก   ขนพระนาสิก                   ขนจมูก
พระปราง                                                   แก้ม
พระกำโบล  กระพุ้งพระปราง                    กระพุ้งแก้ม
พระมัสสุ                                                   หนวด
พระทาฐิกะ  พระทาฒิกะ                          เครา
พระโอษฐ์                                                ปาก  ริมฝีปาก
พระตาลุ  เพดานพระโอษฐ์                      เพดานปาก
พระทนต์                                                  ฟัน
พระทันตมังสะ  พระทันตมังสา                เหงือก
ไรพระทนต์                                              ไรฟัน
พระทาฐะ  พระทาฒะ                              เขี้ยว
พระกราม                                                 ฟันกราม
พระชิวหา                                                 ลิ้น
ต้นพระชิวหา  มูลพระชิวหา                     โคนลิ้น  ลิ้นไก่
พระหนุ ( หะ - นุ )                                     คาง
ต้นพระหนุ                                                ขากรรไกร 
พระกรรณ                                                 หู ใบหู
ช่องพระโสต  ช่องพระกรรณ                    ช่องหู
พระพักตร์                                                 ดวงหน้า
พระศอ                                                      คอ
พระกัณฐมณี                                            ลูกกระเดือก
ลำพระศอ                                                 ลำคอ
พระชัตตุ                                                   คอต่อ
พระรากขวัญ                                            ไหปลาร้า
พระอังสา                                                  บ่า
พระอังสกุฏ                                               จะงอยบ่า
พระพาหา พระพาหุ                                  บ่า
พระกร                                                      ศอกถึงข้อมือ
พระกัประ  พระกะโประ                             ข้อศอก
พระกัจฉะ                                                 รักแร้
พระกัจฉโลมะ                                          ขนรักแร้
พระหัตถ์                                                   มือ
ข้อพระกร  ข้อพระหัตถ์                            ข้อมือ
ฝ่าพระหัตถ์                                              ฝ่ามือ
หลังพระหัตถ์                                           หลังมือ
พระองคุลี  นิ้วพระหัตถ์                            นิ้วมือ
พระอังคุฐ                                                นิ้วหัวแม่มือ
พระดัชนี                                                  นิ้วชี้
พระมัชฌิมา                                            นิ้วกลาง
พระอนามิกา                                           นิ้วนาง
พระกนิษฐา                                             นิ้วก้อย
ข้อนิ้วพระหัตถ์  พระองคุลีบัพ                 ข้อนิ้วมือ
พระมุฐิ  กำพระหัตถ์                                กำปั้น  กำมือ
พระนขา  พระกรชะ                                  เล็บ
พระอุระ  พระทรวง                                  อก
พระหทัย  พระกมล                                  หัวใจ
พระถัน  พระเต้า  พระปโยธร                    เต้านม
ยอดพระถัน  พระจูจุกะ                             หัวนม
พระครรโภทร  พระคัพโภทร                    มีครรภ์  มีท้อง
พระอุทร                                                   ท้อง
พระนาภี                                                   สะดือ  ท้อง
พระสกุล  พระครรภมล                             รก  สิ่งที่ติดมากับสายสะดือเด็กในครรภ์
สายพระสกุล                                            สายรก
กล่องพระสกุล                                          มดลูก
พระกฤษฎี  บั้นพระองค์  พระกฏิ              สะเอว  เอว
พระปรัศว์                                                 สีข้าง
พระผาสุกะ                                               ซี่โครง
พระปฤษฏางค์  พระขนอง                       หลัง
พระโสณี                                                  ตะโพก
พระที่นั่ง                                                   ก้น
พระวัตถิ                                                   กระเพาะปัสสาวะ
พระคุยหฐาน  พระคุยหประเทศ               องค์ที่ลับชาย
พระโยนี                                                   องค์ที่ลับหญิง
พระอัณฑะ                                               ลูกอัณฑะ
พระอูรุ                                                      ต้นขา
พระเพลา                                                 ขาตัก
พระชานุ                                                   เข่า
พระชงฆ์                                                  แข้ง
หลังพระชงฆ์                                           น่อง
พระโคปผกะ                                            ตาตุ่ม
นิ้วพระบาท                                             นิ้วเท้า
พระบาท                                                 เท้า
ข้อพระบาท                                            ข้อเท้า
หลังพระบาท                                          หลังเท้า
ฝ่าพระบาท                                             ฝ่าเท้า
พระปัณหิ  พระปราษณี  ส้นพระบาท      ส้นเท้า
พระฉวี                                                    ผิวหนัง
พระฉายา                                                เงา
พระโลมา                                                ขน
ผิวพระพักตร์  พระราศี                            ผิวหน้า
พระมังสา                                               เนื้อ
กล้ามพระมังสา                                      กล้ามเนื้อ
พระอสา                                                 สิว
พระปีฬกะ                                              ไฝ  ขี้แมลงวัน
พระปัปผาสะ                                         ปอด
พระยกนะ ( ยะ - กะนะ )                       ไต
พระปิหกะ                                              ม้าม
พระอันตะ                                              ไส้ใหญ่
พระอันตคุณ                                          ไส้น้อย  ไส้ทบ
พระกุญชะ                                              ไส้พุง
พระนหารู                                               เส้น  เอ็น
เส้นพระโลหิต  หลอดพระโลหิต            เส้นเลือด  หลอดเลือด
หลอกพระวาโย                                     หลอดลม
พระกิโลมกะ                                          พังผืด
พระองคาพยพ                                       ส่วนต่างๆของร่างกาย
พระมัตถลุงค์                                          มันในสมอง
พระธมนี                                                เส้นประสาท
พระลสิกา                                              น้ำในไขข้อ
พระปิตตะ                                              ดี
พระเขฬะ                                              น้ำลาย
พระเสมหะ                                            เสลด
มูลพระนาสิก                                         น้ำมูก
มูลพระนขา                                           ขี้เล็บ
พระเสโท                                              เหงื่อ
พระเมโท                                              ไคล
พระบุพโพ                                            น้ำหนอง  น้ำเหลือง
พระอุหลบ  พระบุษปะ                         เลือดประจำเดือน
พระอัฐิ                                                  กระดูก
พระอังคาร  พระสรรางคาร                    เถ้ากระดูก
พระอังสัฐิ                                              กระดูกไหล่
พระหนุฐิ                                               กระดูกคาง
พระคีวัฐิ                                                กระดูกคอ
พระพาหัฐิ                                             กระดูกแขน
พระอุรัฐิ                                                กระดูกหน้าอก
พระผาสุกัฐิ                                           กระดูกซี่โครง
พระปิฐิกัณฐกัฐิ                                     กระดูกสันหลัง
พระกฏิฐิ                                               กระดูกสะเอว
พระอูรัฐิ                                                กระดูกขา
พระชังฆัฐิ                                             กระดูกแข้ง
พระปาทัฐิ                                             กระดูกเท้า
พระหัตถัฐิ                                             กระดูกมือ
พระยอด                                                ฝี  หัวฝี
พระบังคนหนัก                                      อุจจาระ
พระบังคนเบา                                       ปัสสาวะ
พระปัสสาสะ                                         ลมหายใจเข้า
พระอัสสาสะ                                         ลมหายใจออก
พระชีพจร                                              ชีพจร
อุณหภูมิพระวรกาย                               อุณหภูมิร่างกาย
พระวาโย                                               ลม